จังหวัดแพร่มีเนื้อที่อยู่ประมาณ 6,538.59 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 4,086,625 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1.27 ของพื้นที่ประเทศ จัดเป็นจังหวัดขนาดกลาง ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาทั้ง 4 ทิศ มีพื้นที่ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 ของจังหวัดเป็นภูเขา มีพื้นที่ราบเพียงร้อยละ 20 ลาดเอียงไปทางทิศใต้ตามแนวไหลของแม่น้ำยมคล้ายกันกระทะ ซึ่งพื้นที่ราบของจังหวัดจะอยู่ระหว่างหุบเขาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำการเกษตร
สถานที่ตั้งของจังหวัดแพร่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งเหนือที่ 14.70 ถึง 18.44 องศา กับเส้นแวงที่ 99.58 ถึง 100.32 องศา สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 155 เมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครตามทางหลวงหมายเลข 11 และ 101 ประมาณ 551 กิโลเมตร และทางรถไฟ 550 กิโลเมตร (ถึงสถานีรถไฟเด่นชัย)
เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางรถยนต์ที่สำคัญของภาคเหนือติดต่อไปยังจังหวัดน่าน พะเยา เชียงราย ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ เรียกได้ว่าเป็น "ประตูสู่ล้านนา" และมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่
ทิศเหนือ เขตอำเภอสอง และอำเภอร้องกวาง: ติดต่อกับจังหวัดลำปาง น่าน และพะเยา
ทิศตะวันออก เขตอำเภอเมืองแพร่ อำเภอสูงเม่น และอำเภอร้องกวาง: ติดต่อกับจังหวัดน่าน และอุตรดิตถ์
ทิศใต้ เขตอำเภอเด่นชัย และอำเภอวังชิ้น: ติดต่อกับจังหวัดอุตรดิตถ์ และสุโขทัย
ทิศตะวันตก เขตอำเภอสอง อำเภอลอง และอำเภอวังชิ้น: ติดต่อกับจังหวัดลำปาง
ที่มา : หนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดแพร่
"เมืองแพร่" เป็นเมืองโบราณที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่อดีตกาล โดยยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด และใครเป็นผู้สร้าง
เมืองแพร่เป็นเมืองที่ไม่มีประวัติของตนเองจารึกไว้โดยเฉพาะ แต่จะปรากฏในตำนานพงศาวดารและจารึกของเมืองอื่น ๆ อยู่บ้างเพียงเล็กน้อย จากการศึกษาค้นคว้าและตรวจสอบหลักฐานจากตำนานเมืองเหนือ พงศาวดารโยนก และศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สันนิษฐานว่าเมืองนี้น่าจะสร้างในยุคเดียวกับกรุงสุโขทัย เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา น่าน
เมืองแพร่มีชื่อเรียกหลายอย่าง จากตำนานเมืองเหนือเรียกว่า "พลนคร" หรือ "เมืองพล" ดังปรากฏในตำนานสร้างพระธาตุลำปางหลวงว่า
"เบื้องหน้าแต่นั้นนานมา ยังมีพระยาสามนตราชองค์หนึ่ง เสวยราชสมบัติในพลรัฐนคร อันมีในที่ใกล้กันกับลัมภกัปปะนคร (ลำปาง) นี่ ทราบว่าสรีรพระธาตุพระพุทธเจ้ามีในลัมภกัปปะนครก็ปรารถนาจะใคร่ได้"
หรือในสมัยขอมเรืองอำนาจ ราว พ.ศ. 1470 - 1560 นั้น พระนางจามเทวีได้แผ่อำนาจเข้าครอบครองดินแดนในเขตลานนา แล้วได้เปลี่ยนชื่อเมืองในเขตลานนาเป็นภาษาเขมร เช่น ลำพูนเป็น "หริภุญไชย" น่านเป็น "นันทบุรี" เป็นต้น ซึ่งเมืองแพร่ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "โกศัยนคร" หรือ "นครโกศัย"
ชื่อที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง เรียกว่า "เมืองพล" และได้กลายเสียงตามหลักภาษาศาสตร์เป็น "แพร่" โดยชาวเมืองจะนิยมออกเสียงว่า "แป้"
ที่มา: หนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดแพร่
จังหวัดแพร่มีทรัพยากรต่าง ๆ ดังนี้
ป่าไม้ จังหวัดมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4,051,912.64 ไร่ ปัจจุบันมีเนื้อที่ป่าจำนวน 2,624,342.22 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 64.77 ของพื้นที่จังหวัด แบ่งเป็น 3 เขต ได้แก่ เขตป่าเพื่ออนุรักษ์ เขตป่าเพื่อเศรษฐกิจ เขตป่าที่เหมาะสมกับการเกษตรกรรม
ที่มา: ข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้จากการแปรภาพถ่ายจากดาวเทียม ปี 2564
แร่ธาตุ มีทรัพยากรแร่ธาตุที่สำคัญคือ หินอุตสาหกรรม แร่พลวง แร่แบไรต์ และแร่ฟลูออไรต์ มีเหมืองแร่ที่ได้รับประทานบัตร คือ หินอุตสาหกรรม แร่พลวง แร่แบไรต์ แร่ฟลูออไรต์ และแร่วุลแฟรม
ที่มา: สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่, ข้อมูล ณ วันที่ 20 กันยายน 2565
น้ำ มีแม่น้ำยมไหลผ่าน ถือเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของจังหวัด เฉพาะที่ไหลผ่านจังหวัดแพร่มีความยาว 280 กม. ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของความยาวทั้งหมดของแม่น้ำ จังหวัดมีลำน้ำสาขาที่สำคัญไหลลงสู่แม่น้ำยม 16 สาย ครอบคลุมพื้นที่ 6,423.47 ตร.กม. มีปริมาณน้ำท่า 3,688 ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 88 ของปริมาณน้ำท่าในพื้นที่ลุ่มน้ำยมทั้งหมด) ได้แก่ ลุ่มน้ำแม่แคม แม่สาย แม่ต้า แม่หล่าย แม่คำมี แม่พวก แม่สอง แม่มาน แม่สรอย แม่ถาง แม่พุง แม่ลาน แม่จอก แม่ยางหลวง แม่เกิ๋ง และงาว นอกจากนี้ยังมีลำน้ำย่อย ๆ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำยมโดยตรงกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ
ที่มา: บรรยายสรุปจังหวัดแพร่ 2567
การแบ่งเขตการปกครอง จังหวัดแพร่แบ่งเขตการปกครองออกเป็น
8 อำเภอ (เมืองแพร่, สูงเม่น, เด่นชัย, สอง, ลอง, หนองม่วงไข่, ร้องกวาง และวังชิ้น) 78 ตำบล 708 หมู่บ้าน 18 ชุุมชน
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 84 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาลเมือง 1 แห่ง เทศบาลตำบล 25 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 57 แห่ง
ข้อมูลประชากร จังหวัดแพร่มีประชากร จำนวน 432,014 คน จำแนกเป็นชาย 207,853 คน (ร้อยละ 48.11) หญิง 224,161 คน (ร้อยละ 51.89)
ที่มา: กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (www.dopa.go.th), ข้อมูล ณ ธันวาคม 2565
ศาสนา จังหวัดแพร่มีประชาชนทนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ จำนวน 305,845 คน คิดเป็นร้อยละ 99.35 มีวัด จำนวน 379 แห่ง แยกเป็น พระอารามหลวง จำนวน 2 แห่ง วัดราษฎร์ จำนวน 377 แห่ง โบสถ์ จำนวน 35 แห่ง และมัสยิด จำนวน 2 แห่ง
ที่มา: สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดแพร่, ข้อมูล ณ วันที่ 22 กันยายน 2565
กลุ่มชาติพันธ์ุ ได้แก่
กะเหรี่ยง จำนวน 8,367 คน
ม้ง จำนวน 3,496 คน
อาข่า จำนวน 416 คน
มลาบรี จำนวน 156 คน
ราษฎรไทยพื้นราบ 6,229 คน
ที่มา: ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดแพร่, ข้อมูล ณ วันที่ 18 พฤษภาคม 2565
ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด: จังหวัดแพร่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ณ ราคาตลาดประจำปี พ.ศ. 2563 มูลค่าเท่ากับ 31,218 ล้านบาท โดยมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับ
อันดับ 1 คือ สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และประมง 6,099 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19.2
อันดับ 2 คือ สาขาการศึกษา 4,393 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.1
อันดับ 3 คือ สาขาการขายส่ง การขายปลีกฯ 3,611 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.6
รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร (GPP per capita): ข้อมูลล่าสุดในปี 2563 เท่ากับ 82,657 บาท จัดเป็นอันดับที่ 56 ของประเทศ และเป็นลำดับที่ 14 ของ 17 จังหวัดภาคเหนือ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร
ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
การศึกษาขั้นพื้นฐาน: ตั้งแต่ระดับก่อนประถม ประถม มัธยม มีโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่ เขต 1 (118 แห่ง) เขต 2 (124 แห่ง) รวม 242 แห่ง และโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแพร่ 16 แห่ง
ระดับอาชีวศึกษา: สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา มีตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรี 6 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคแพร่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาแพร่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีแพร่ วิทยาลัยสารพัดช่างแพร่ วิทยาลัยการอาชีพสอง และวิทยาลัยการอาชีพลอง
ระดับอุดมศึกษา: 6 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ, มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ศูนย์วิทยบริการจังหวัดแพร่, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่, วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีแพร่ และวิทยาลัยชุมชนแพร่
การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย: ระดับประถมถึงมัธยม มี กศน.ตำบล 78 แห่ง
ที่มา: บรรยายสรุปจังหวัดแพร่ 2567
โบราณสถานที่สำคัญของจังหวัดแพร่: ปัจจุบันได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากรแล้วทั้งสิ้น 10 แห่ง ดังนี้
วัดพระธาตุช่อแฮ
วัดพระหลวง (วัดพระหลวงธาตุเนิ้ง)
วัดพระธาตุปูแจ
วัดพระธาตุศรีดอนคำ
พระธาตุแหลมลี่
วัดจอมสวรรค์
วัดศรีชุม
วัดหัวข่วง
วัดหลวง
จวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่
ที่มา: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแพร่, ข้อมูล ณ วันที่ 20 กันยายน 2565