ข่ายลูกหลานเมืองแพร่ เป็นการรวมตัวของคนที่มีความรักท้องถิ่นเมืองแพร่ประดุจเป็นบ้านเมืองของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นคนในเมืองแพร่หรือไม่ก็ตาม ข่ายได้เริ่มก่อตัวขึ้นจากกลุ่มคนในเมืองแพร่คณะหนึ่ง ที่อยากเห็นเมืองแพร่เป็นเมืองมรดกวัฒนธรรมที่มีชีวิต อยากเห็นคนแพร่โดยเฉพาะอนุชนมีความรักและภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตนเอง และอยากเห็นคนแพร่มีวิถีชีวิตที่เข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้อย่างพอเพียง อยู่เย็นเป็นสุข ภายใต้บ้านเมืองที่มีความสงบร่มเย็นและงดงามด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่สังสรรค์ร่วมกันอยู่ในพื้นที่แห่งนี้อย่างมีรากเหง้า ที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเองมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน จึงตั้งปณิธานร่วมกันและเริ่มเคลื่อนไหวกิจกรรมตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา
เริ่มจากเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดที่ได้ถูกจัดขึ้นเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอตลอดปี ๒๕๔๔ โดยชักชวนผู้เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมตามความสมัครใจ จนตกผลึกทางความคิดมั่นใจว่าต่างมีปณิธานร่วมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สาระของการพูดคุยตลอดทั้งปีนั้นเป็นการวิเคราะห์และสังเคราะห์สภาพความเป็นจริงของวิถีชีวิตคนเมืองแพร่ ว่ามีจุดอ่อนจุดแข็ง(ทุน/ศักยภาพ) มีภัยคุกคามและโอกาสอย่างไร ซึ่งพอสรุปได้ว่าคนเมืองแพร่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีความเชื่อวัฒนธรรมแบบลานนาเป็นพื้นฐาน ที่เชื่อมโยงชีวิตกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลเป็นองค์รวม มีภูมิปัญญาที่สั่งสมมาแต่อดีตหลายเรื่อง แต่เนื่องจากถูกตัดตอนด้วยการพัฒนาจากภายนอกจึงทำให้ความรู้นั้นมิได้ถูกพัฒนาจนสามารถเชื่อมต่อกับความรู้ในสถานการณ์ปัจจุบันได้ กฎระเบียบและการพัฒนาจากภายนอก ได้เซาะกร่อนให้คนท้องถิ่นเมืองแพร่ค่อย ๆ ขาดความมั่นใจ ความภาคภูมิใจในตนเองถูกกดทับ ทำให้ไม่กล้าแสดงตัวตน ดูถูกวัฒนธรรมของตนเองว่าเป็นวัฒนธรรมที่ด้อยกว่าและล้าสมัย และค่อย ๆ เปลี่ยนจากการคิดแบบองค์รวมเป็นการคิดแบบแยกส่วน จนทำให้ขาดสำนึกร่วมอันเป็นรากฐานของการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมที่เป็นสิ่งซึ่งทำให้ชีวิตมีความสมดุลและมั่นคง
กระบวนการการวิเคราะห์และสังเคราะห์ภาพรวมดังกล่าว นอกจากเป็นการปรับฐานคิดเข้าหากันของแกนทำงานแล้ว สิ่งที่วิเคราะห์ได้ยังนำไปสู่การออกแบบวิธีการทำงานแบบขั้นบันไดเพื่อไปสู่วิสัยทัศน์ที่ต้องการ ว่าในเบื้องแรกจำเป็นต้องฟื้นฟูสำนึกร่วมและดึงคืนความมั่นใจความภาคภูมิใจ ของผู้คนในท้องถิ่นกลับมา ให้เชื่อมั่นในตนเองเสียก่อน บันไดขั้นที่สองเป็นการช่วยดึงความรู้ที่มีอยู่ในตัวคนให้เป็นที่ประจักษ์แก่ตน โดยการถอดบทเรียนจากประสบการณ์ อันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาแบบพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน ความรู้ดังกล่าวเป็นทั้งความรู้เกี่ยวกับชีวิตที่สัมพันธ์อย่างสอดคล้องกับนิเวศน์วัฒนธรรมซึ่งเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา และความรู้ทางเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงภูมิปัญญาเดิมที่ได้พัฒนาตามกาลเวลากับความรู้เทคโนโลยีใหม่จากภายนอก บันไดขั้นที่สามคือการนำความรู้ไปใช้งานอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวการณ์ที่จะนำสู่ชีวิตที่สมดุล ไม่เบียดเบียนทั้งตนเอง คน/สัตว์อื่น และทรัพยากรที่ถือเป็นของส่วนรวม ซึ่งบันไดทั้งสามขั้นนี้อาจมิได้ตัดตอนแบบทำขั้นหนึ่งเสร็จก่อนแล้วจึงเริ่มขั้นต่อไป แต่ดำเนินการเชื่อมโยงต่อเนื่องกันไปอย่างเป็นธรรมชาติแล้วแต่บริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย
ในปี 2545 ได้ทดลองเริ่มทำงาน ด้วยการจัดทำโครงการการฟื้นฟูสำนึกท้องถิ่นเพื่อร่วมกันพัฒนาเมืองน่าอยู่ในเขตกำแพงเมืองแพร่ เป็นการนำร่องทำในพื้นที่เล็ก ๆ เฉพาะเขตกำแพงเมืองก่อน จากแนวคิดของแกน รวมกลุ่มกับคนทำงานอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กันอย่างหลวม ๆ จึงค่อย ๆ ก่อเกิดรูปธรรมของกระบวนการกลุ่มที่มีกิจกรรมจากคนในมารองรับ และสถาปนาชื่อกลุ่มโดยความช่วยเหลือของ ศ.ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง ตั้งชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มลูกหลานเมืองแพร่” อันหมายถึงกลุ่มคนที่คิดว่าตนเป็นลูกหลานของแม่เมือง ซึ่งมีความรักเคารพและผูกพันอยากให้ครอบครัว “เมืองแพร่” มีชีวิตที่เป็นสุขและสมดุล และมาร่วมกันทำสิ่งดี ๆ ให้กับแม่เมืองด้วยกัน
ต่อจากนั้นได้สรรค์สร้างกิจกรรมร่วมอีกนานารูปแบบในหลายพื้นที่ จึงทำให้ได้เรียนรู้และรู้จักกับกลุ่มคนอีกหลากหลายที่กำลังทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งภายในให้กับท้องถิ่นต่าง ๆ ของเมืองแพร่ อันแสดงให้เห็นว่ามีกลุ่มคนมากมาย ที่ต่างมีปณิธานเดียวกัน สามารถเป็นพันธมิตรเสริมกำลังกันได้ และเราน่าจะทำงานเป็นเครือข่ายกัน ไม่ผูกขาดความรักเมืองแพร่ไว้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นจึงปรับวิธีการทำงาน จากการบริหารงานแบบกลุ่ม เป็นการทำงานแบบร่วมมือกันเป็นเครือข่าย และปรับชื่อจากกลุ่มลูกหลานเมืองแพร่ เป็น “ข่ายลูกหลานเมืองแพร่” ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา
ชุมชนท้องถิ่นเมืองแพร่ ดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมความหลากหลายที่งดงามของกลุ่มชนอันประกอบกันขึ้นมาเป็นสังคมเมืองแพร่ ชุมชนต่าง ๆ มีความเข้มแข็ง อยู่ดีมีสุข เป็นอิสระ และสามารถพึ่งตนเองได้ด้วยสัมมาอาชีวะที่ยั่งยืน สามารถจัดการวิถีชีวิตตนอย่างบูรณาการสอดคล้องทั้งกับภูมินิเวศน์วัฒนธรรมของตนและกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของวิถีสังคม ด้วยการใช้และถนอมทรัพยากรส่วนรวมอย่างรู้คุณค่า
เชื่อมโยงผู้คนที่สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ในเมืองแพร่ ให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสนธิพลัง ในการพัฒนาบ้านเมือง ไปสู่ความอยู่ดีมีสุขร่วมกัน
สรรค์สร้างกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ เน้นให้ผู้คนเห็นถึงคุณค่าความหมายของการมีชีวิตที่ดีงาม สอดคล้องกับวิถีแห่งธรรม(ชาติ) ที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงอนาคต
จัดกระบวนการในการถอดบทเรียนและจัดการความรู้ร่วมกันของเครือข่ายและผู้คนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันยกระดับความรู้ที่ได้ให้เข้าถึงซึ่งปัญญา
สร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสังคมเมืองแพร่ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามสถานการณ์ เช่น เวทีพูดคุยกัน การทัศนศึกษาตามเส้นทางต่าง ๆ จัดพื้นที่เรียนรู้ อันได้แก่ พื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน การทำหม้อห้อมย้อมธรรมชาติ พื้นที่สาธิตด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นต้น แล้วเชื่อมโยงผู้คนจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม ภาคราชการ หรือภาคธุรกิจ มาร่วมเรียนรู้ให้เห็นภาพรวมและเชื่อมโยงเรื่องราวในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างบูรณาการร่วมกัน
จัดกระบวนการถอดบทเรียนและจัดการความรู้ร่วมกันของเครือข่ายและผู้คนที่เกี่ยวข้อง โดยใช้หลักการของการสนทนาเชิงสร้างสรรค์ (สุนทรียสนทนา) เป็นแกนกลาง
ประสานงานกับองค์กร เครือข่ายอื่น ๆ จากภายนอกที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความชำนาญการเฉพาะด้าน ให้เข้ามาร่วมกิจกรรม ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้ความสนับสนุนการขับเคลื่อนกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น ด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ เป็นต้น
เผยแพร่ประชาสัมพันธ์แนวคิด และ ผลงานผ่านสื่อต่าง ๆ ตามโอกาส